ไม่ได้เกี่ยวกับ “ทะเลแดง” ที่คั่นกลางระหว่างทวีปเอเชียกับแอฟริกา แต่ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลและทำให้ทะเลบริเวณนั้นกลายเป็นสีแดง (Red Tide) ซึ่งรู้จักกันในอีกชื่อเรียกที่น่าจะบรรยายได้ชัดกว่า ก็คือ “การขยายตัวแบบผิดปกติของสาหร่ายทะเล” (Algal Bloom) มีผลให้ทะเลบริเวณดังกล่าวปกคลุมด้วยสีแดงของสาหร่าย ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับการเกิดขึ้นของจอก แหน ผักตบชวา เป็นเหตุให้น้ำเสีย สิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้เนื่องจากขาดอากาศ
ปรากฏการณ์ทะเลแดง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่ง โดยสิ่งที่แพร่กระจายได้รวดเร็วจนปกคลุมผืนน้ำเป็นบริเวณกว้าง และเห็นเป็นสีเขียว น้ำตาล หรือแดง จริงๆ แล้วจัดเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มีลักษณะคล้ายพืชที่มีคลอโรฟิลล์
ในแต่ละแห่งปรากฏการณ์ทะเลแดง (น้ำตาลหรือเขียว) จะเกิดขึ้นแตกต่างกันไป โดยในบ้านเราอาจจะเป็นผักตบชวา จอก แหนสีเขียว ขณะที่ทางฝั่งอเมริกา เช่น ฟลอริดาหรืออ่าวเม็กซิโกจะออกเป็นสีแดง
เมื่อพวกมันปกคลุมพื้นที่และมีความหนาแน่นมากๆ น้ำบริเวณนั้นก็จะขาดออกซิเจน ไม่โดนแสงเดือนแสงตะวัน กลายเป็นน้ำเน่าเสีย และอาจพัฒนาไปเป็นบริเวณที่มีพิษ (ทั้งน้ำและตัวสาหร่าย จอก แหน ฯลฯ) ในที่สุด นอกจากส่งผลกระทบต่อปลากับสัตว์น้ำตื้นแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อนกน้ำและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบริเวณชายฝั่งได้ และไม่แปลกที่จะส่งผลกระทบมาถึงสุขภาพมนุษย์เรา หากได้รับประทานสิ่งมีชีวิตบริเวณชายฝั่งที่โดนพิษเข้าไป ตั้งแต่หอยนางรม และอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ทะเลแดงเกิดขึ้นมานับพันๆ ปีแล้ว และมิใช่ว่าทุกการแพร่กระจายของพวกมันจะต้องเกิดเป็นพิษขึ้น
ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่อาหารของเจ้าสาหร่าย จอก แหน ฯลฯ ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นผลพวงมาจากการปล่อยน้ำเสีย การเพิ่มขึ้นมากเกินไปของจำนวนประชากรในชุมชน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สืบเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เรานั่นเอง
ในอีกระดับปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และจำนวนประชากรสัตว์ชายฝั่ง ขณะที่จากอดีตเป็นต้นมา ปรากฏการณ์ทะเลแดงไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิต แต่อาจก่อความรำคาญจากการเจ็บป่วย และทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ เช่น ที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา พิษจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่สั่งสมอยู่ชายฝั่งทะเลทำให้อากาศบริเวณดังกล่าวเกิดก๊าซพิษ มีผลให้คนแถวๆ นั้นไอ จาม และเกิดอาการระคายเคืองตา
ในปี 1972 เกิดปรากฏการณ์ทะเลแดงในนิวอิงแลนด์ กลายเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อโรคประเภทอเล็กซานดริอุม (โกนีโอแลกซ์) ล่าสุดในปี 2005 พบว่าปรากฏการณ์ทะเลแดงทางตอนใต้ของแคนาดาแผ่ขยายออกไปมากกว่าที่เกิดขึ้นในปีก่อนๆ โดยเรือหาปลาโอเชียนัส เป็นผู้สังเกตเห็นหอยจำนวนมากลอยขึ้นมาตายเป็นแพบริเวณผิวน้ำ ซึ่งเชื่อมต่อกับรัฐเมนและแมสซาชูเซตส์ของอเมริกา และตั้งท่าจะลามไปยังลองไอส์แลนด์ รัฐนิวยอร์กนู่นเลย
ผู้เชี่ยวชาญพบร่องรอยการแพร่พันธุ์ของปรสิตที่ทำท่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่เพียงแต่จะทำลายระบบนิเวศเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบเรื่องการประมง รวมทั้งฟาร์มหอยบริเวณชายฝั่ง นอกจากนี้ยังน่าเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของลองไอส์แลนด์อีกด้วย
ที่มา http://www.posttoday.com/