แพทย์เตือนชายหญิงใกล้วัยทอง กว่า 40 ปี ระวังมหันตภัยกระดูกพรุนหรือมฤตยูเงียบคุกคามโดยไม่รู้ตัว เผยพบคนไทยกว่า 1 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะอันตราย เพราะเป็นโรคที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า มักเกิดขึ้นในเพศหญิง ปัจจุบันยังไม่มีหนทางรักษา วิธีดีที่สุดในการป้องกัน นอกจากต้องสร้างความแน่นหนาของกระดูก ด้วยการเลือกทานแคลเซี่ยม โปรตีนและวิตามินดีแล้ว ควรหมั่นออกกำลังกายกับหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เครื่องดื่มผสมคาเฟอีนและสูบบุหรี่
พลโท น.พ. สุปรีชา โมกขะเวส ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า วิทยาการสมัยใหม่ ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น จากปี ค.ศ. 2000 คนอายุเกิน 60 ปีมี 2,000 ล้านคน คาดว่า ในปี ค.ศ. 2050 จะมีประชากรเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 60 ล้านคน และผู้สูงอายุจะมีถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรในแต่ละประเทศ เป็นเหตุ ให้พบปัญหาการเกิดโรคต่างๆในผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน ซึ่งมีอีกชื่อว่า “มฤตยูเงียบ” เพราะอาการของโรคจะรุกคืบตลอดเวลา โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ผู้ป่วยจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักแล้ว
“ จากการศึกษาประชากรทั่วโลก พบว่า สตรีมีโอกาสกระดูกหักจากโรคนี้ มากถึง 30 – 40 % ในขณะที่ผู้ป่วยมีโอกาส 13 % ประมาณว่าทั่วโลกมีสตรี 2 ล้านคนทนทรมานกับโรคนี้ โดยจำนวนการหักของกระดูกสะโพกจะเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งจะพบมากในประชากรแถบเอเชีย เพราะส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการสะสมแคลเซี่ยม โปรตีนและวิตามินดี จากการไม่ดื่มนม รับประทานอาหารไม่เพียงพอ เพื่อต้องการลดน้ำหนักและไม่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ทำให้ไม่ได้รับแร่ธาตุที่มีส่วนต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ขณะเดียวกัน ผู้มีชื่นชอบบุหรี่ สุราและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสูงในการเป็นโรคนี้ด้วย” พลโท น.พ. สุปรีชา กล่าว
สำหรับในประเทศไทย พลโท น.พ. สุปรีชา กล่าวว่า มีคนไทยมากกว่า 1 ล้านคน กำลังตกอยู่ในอันตรายด้วยโรคนี้ เนื่องจากเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ร่างกายแต่ละคนจะสลาย แคลเซี่ยมออกมาใช้ ทำให้มวลกระดูกและความหนาแน่นลดลงเรื่อยๆเฉลี่ยปีละ 0.3 – 0.5 % ส่งผลให้กระดูกมีโอกาสหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ข้อมือ สะโพก และกระดูกต้นแขนบริเวณหัวไหล่ ปัจจุบันยังไม่มีหนทางในการรักษาโรคนี้ การดูแลผู้ป่วยมีผลเพียงแค่หยุดยั้ง การสูญเสียมวลกระดูก และรักษาอาการกระดูกหักเท่านั้น
“ โดยมากที่ตรวจพบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ความสูงลดลงและบางรายอาจเกิดอาการหลังโก่ง ซึ่งนอกจากจะเจ็บปวดแล้วยังยุ่งยากต่อการรักษา โดยเฉพาะบริเวณสะโพกที่จำเป็นต้องผ่าตัดยึดตรึงกระดูก และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถกลับไปดำรงชีวิตได้เหมือนเดิม และบางรายต้องเสียชีวิตไปในที่สุด การป้องกันคือต้องเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กจนถึง 35 ปี รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่ครบหมู่ โดยเฉพาะแคลเซี่ยม โปรตีน และวิตามินดี พร้อมๆไปกับหมั่นออกกำลังกาย กับหลีกเลี่ยงการดื่มสุราเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน และสูบบุหรี่ “ พลโท น.พ. สุปรีชา กล่าว
www.teenee.com/