เตรียมรับมือน้ำท่วม
นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงสถานการณ์วิกฤติน้ำในประเทศไทยปี 2555 ว่า ปีนี้พื้นที่กรุงเทพมหานครยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีร่องมรสุมและพายุพาดผ่านประเทศไทย นานผิดปกติโดยยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ ซึ่งตามปกติแล้วร่องมรสุมจะอยู่ประมาณ 4-7 วัน แต่ปีนี้อยู่มาเกือบ 1 เดือนแล้ว ซึ่งร่องมรสุมที่พาดผ่านนานก็จะทำให้ฝนตกหนัก จึงถือว่ากรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมที่มาจากน้ำฝน
สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีพายุเข้ามาในช่วงเดือนตุลาคม เหมือนปี 2533 ,2539 และ 2549 ที่ทำให้น้ำท่วมภาคกลางซึ่งมีโอกาสสูงมาก และประมาณวันที่ 29 กันยายน ถึง 2 ตุลาคมนี้ คาดว่า จะมีฝนตกหนักซึ่งต้องจับตามองว่ากรุงเทพมหานคร จะรับมืออย่างไร ขณะที่ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร กับรัฐบาลยังไม่บูรณาการแผนงานร่วมกัน
ส่วนข้อแนะนำนั้นขณะนี้มีวิธีเดียวคือพร่องน้ำในคลอง เพราะการขุดลอกคูคลองอาจไม่ทันการ พร้อมทั้งต้องหารือกับรัฐบาลว่า จะต้องไม่ปล่อยน้ำเหนือผ่านเข้ามา นอกจากนั้น การที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณสร้างพนังกั้นน้ำให้สูงขึ้น อาจจะยิ่งทำให้กรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงมากขึ้น หากฝนตกหนักเป็นเวลานาน และเขื่อนก็เริ่มปล่อยน้ำลงมา ซึ่งอาจเกิดปัญหาเหมือนกับเมืองนิวออร์ลีนส์ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อเกิดพายุกำแพงก็จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ
สำหรับน้ำท่วมภาคกลางนั้นมีหลายปัจจัยไม่ใช่เฉพาะน้ำเหนือเท่านั้น ซึ่งปีนี้น่าห่วงเรื่องร่องมรสุมที่อยู่นานผิดปกติ อีกทั้งน้ำเหนือก็คาดว่าจะมาถึงกรุงเทพมหานคร ประมาณเดือนตลุาคมนี้เช่นกัน และช่วงนั้นก็อาจจะมีน้ำทะเลหนุนด้วยซึ่งถ้า 3 น้ำมาเจอกันกรุงเทพฯ ก็อาจต้องเจอปัญหาใหญ่
ส่วนในระยะยาวกรุงเทพมหานครจะต้องปรับท่อระบายน้ำให้ใหญ่ขึ้นจากที่ระบายได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเป็น 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงและขุดลอกคูคลองให้ลึกขึ้น ขณะที่แนวคิดที่จะก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นคิดว่าเขื่อนไม่ใช่มาตรการเบ็ดเสร็จที่ให้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีหากบริหารจัดการไม่ดีเขื่อนอาจจะกลายเป็นปัญหา รัฐบาลต้องให้คำตอบเรื่องความคุ้มค่าให้ได้