ข้อเท็จจริงเรื่องฝากระป๋องกับขาเทียม
คำชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องหูกระป๋อง
“จากการที่มีผู้สอบถามและนำหูกระป๋องและฝาเครื่องดื่มบำรุงร่างกายมามอบให้แก่ชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพื่อทำชิ้นส่วนของขาเทียมจำนวนมาก ทางชมรมฯ ขอขอบคุณและชื่นชมในความเอื้ออาทรของทุกท่านเป็นอย่างยิ่งและใคร่ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตขาเทียมให้ทุกท่านได้ทราบดังต่อไปนี้”
1. หูกระป๋องหรือฝาเครื่องดื่มเป็นโลหะประเภทอลูมิเนียม ดังนั้นอลูมิเนียมทุกชนิด เช่น กระทะ ขัน กะละมัง ที่เป็นอลูมิเนียมสามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด
2. การรณรงค์นำของเหลือใช้มาทำประโยชน์เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรบริโภคเพื่อหวังจะนำหูกระป๋องมาเพื่อทำขาเทียมช่วยเหลือผู้พิการ เพราะหูกระป๋อง 4,200 อัน มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีมูลค่าเป็นเศษอลูมิเนียมเพียง 50 บาท จะหลอมได้ชิ้นส่วนเพียง 5 ชิ้น ในขณะที่เราต้องเสียเงินซื้อเครื่องดื่มอย่างน้อยถึง 42,000 บาท
3. เหตุใดถึงเลือกเฉพาะหูกระป๋องหรือหูเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ถ้าต้องการอลูมิเนียมเพื่อทำขาเทียมจริง ๆ ก็ควรจะรับบริจาค หม้อ ขัน กระทะ เครื่องต่าง ๆ ที่มีส่วนของอลูมิเนียม จะได้ประมาณมากมาย (ถ้าท่านมีศรัทธาอยากจะช่วยเหลือผู้พิการส่งเงินบริจาคไปยังที่อยู่ของหน่วยงานที่ขอบริจาคจะดีกว่าที่จะรวบรวมหูกระป๋อง เพราะนอกจากไม่คุ้มค่าแล้วยังเสียความรู้สึกที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้แก่นักฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ให้แก่ตน)
4. เศษอลูมิเนียมทุกชนิดต้องนำมาหลอมที่อุณหภูมิ 800 C เพื่อจะแปรรูปเป็นอลูมิเนียมแท่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหลอมอลูมิเนียมแท่งและค่าจัดส่งมากกว่าค่าวัตถุดิบ ถ้าหน่วยงานใดที่ต้องการชิ้นส่วนขาเทียม ทางชมรมฯ ยินดีจะผลิตให้พอกับความต้องการและไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
5. ความสามารถในการประกอบขาเทียมจากเศษอลูมิเนียม 100 กิโลกรัม เมื่อนำมาทำชิ้นส่วนของขาเทียมจะได้ชิ้นส่วนถึง 500 อัน ผู้ประกอบขาเทียมต้องใช้เวลาประกอบหลายปี ดังนั้นการรณรงค์เพื่อเก็บหูกระป๋องกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศจึงเป็นเรื่องการสร้างภาพของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และควรจะให้ประชาชนได้รู้ความจริง
6. การดื่มน้ำกระป๋อง เป็นการสิ้นเปลือง เพราะแผ่นโลหะที่นำมาทำกระป๋องต้องนำเข้า และต้องจ่ายค่ากระป๋องเพิ่มจากน้ำขวดปรกติถึง 3 บาท
7. การสร้างศรัทธาและจิตสำนึกเพื่อช่วยเหลือคนพิการเป็นสิ่งที่ดี แต่การโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายและนำสถาบันเบื้องสูงมาอ้างเช่นนี้ทำให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก เรื่องอย่างนี้…ผู้คุ้มครองผู้บริโภคน่าจะดูแลให้ทั่วถึง
ที่มา : ชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรรมไทย