เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์เดลี่เมลแห่งประเทศอังกฤษ ได้หยิบเอาคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ที่พนักงานหนุ่ม นาม “อีออน” ที่ทำงานในผับคิง วิลเลียม เดอะโฟร์ธ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เดินตกลงไปในปล่องช่องลิฟต์ขนสินค้า ที่มีความลึกราว 3 เมตรเศษ ทั้งที่ในเวลานั้นมีแสงสว่างส่องทั่วพื้นที่ทำงาน และสามารถมองเห็นพื้นและสิ่งรอบข้างได้โดยสะดวก
แต่ทำไมนายอีออนถึงได้ตกลงไปในปล่องลิฟต์ได้น่ะหรือ ก็เพราะว่า ขณะที่เดินมาหยิบสินค้าตามคำสั่งเจ้านายนั้น กระทาชายรายนี้กำลังก้มหน้าก้มตาชมรายการโทรทัศน์ที่ภรรยาไปออกรายการบนจอเล็กๆ ของสมาร์ทโฟนของตนเองอยู่ ทำให้สมาธิทั้งหมดมุ่งอยู่กับหน้าจอขนาดกว้างไม่เกิน 5 นิ้ว และตัดตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมภายนอกโดยสิ้นเชิง ทำให้เขาไม่ได้สังเกตเลยว่าแผ่นพื้นที่ปิดช่องลิฟต์อยู่นั้นถูกนำออกไปวางข้างๆ และเหลือช่องว่างขนาดพอดีตัวให้เขาก้าวเดิน (อย่างไม่ระวัง) ลงไปในปล่อง เรียกเสียงฮาจากพนักงานรอบข้างที่เห็นเหตุการณ์ความซุ่มซ่ามของหนุ่มรายนี้ได้อย่างดี
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของความซุ่มซ่าม และเลินเล่อของกระทาชายนายอิออน แต่ก็เป็นเครื่องสะท้อนได้ว่า การที่เจ้าของสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ แม้กระทั่งแท็บเล็ต มัวแต่จับจ้องหน้าจอจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ปรากฏอยู่บนนั้น โดยไม่สนใจสภาพแวดล้อมภายนอก ภัยจะมาถึงตัวได้โดยคาดไม่ถึง
เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็กๆ สำหรับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลังจากที่มีการเก็บสถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากผู้ขับหันไปให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟนชั่วขณะ ทำให้ลืมไปว่าตนเองกำลังขับรถอยู่นั้น มีอยู่ด้วยกันถึง 25% ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา
อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากสมาร์ทโฟน แทบทั้งหมดมาจากการที่ผู้ขับละสมาธิจากท้องถนนไปกดปุ่มพิมพ์ข้อความหรืออ่านข้อความที่เพื่อนๆ ส่งมา
ผลการศึกษาพบว่า การละมือมาพิมพ์ข้อความบนหน้าจอสมาร์ทโฟนนั้น เป็นอันตรายกว่าการเมาแล้วขับรถยนต์ถึง 6 เท่า ดังนั้นการใช้งานโซเชียลมีเดียระหว่างการขับรถจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเลวร้ายขึ้นอีกมาก เมื่อประชากรโลกนิยมใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันตลาดสมาร์ทโฟนก็เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศต่างๆ
การศึกษาของนักวิจัยในสหรัฐน่าจะเป็นเครื่องเตือนภัยอย่างดีให้แก่รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา และประเทศดาวรุ่งทางเศรษฐกิจของโลก เช่น จีน และอินเดีย ที่มีอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างมากในแต่ละปี ขณะเดียวกันความนิยมในการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (ในภาษาท้องถิ่น) ก็เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ขณะที่อัตราการบริโภครถยนต์ก็เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนมีกำลังจับจ่ายซื้อสินค้าที่ต้องการมากขึ้นตามไปด้วย
ไม่เพียงแค่อุบัติเหตุจากการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างการขับรถยนต์ แต่ในสหรัฐยังมีการเก็บสถิติผู้เสียชีวิตจากการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างการเดินขึ้นลงบันได ที่แต่ละปีมีอัตราสูงถึง 12,000 รายต่อปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปอีก
สิ่งที่ประชากรในหลายประเทศยังขาดคือ “จิตสำนึกความปลอดภัย” เนื่องจากขาด “สติ” ที่เป็นต้นเหตุของ “ปัญญา″ ในการรับรู้และระวังป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมใดๆ เชื่อว่าหลายต่อหลายคนไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างการเดินขึ้นลงบันไดกันแล้ว แต่นั่นก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า “สมาร์ทโฟน” เป็นอันตรายที่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด หากเจ้าของ “ไร้สติ” ในการใช้งาน
|